Humberger Menu

อาการขี้ลืมชั่วขณะมาจากไหน? ทำไมบางครั้งเราก็ลืมว่าจะทำอะไร จะพูดอะไร หรือลืมชื่อเพื่อนบางคน

-ก
+
Light
Dark
ฟังบทความ

Everyday Life

Lifestyle

13 พ.ค. 65

creator
กองบรรณาธิการ
BookmarkLineCopy
-ก
+
Light
Dark
ฟังบทความ

...

Summary
  • เราหลายคนอาจประสบกับอาการลืมชั่วขณะ หรือการลืมในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เป็นครั้งคราว โดยผู้เชี่ยวชาญระบุว่าอาจเป็นผลมาจากการใช้พลังงานในการปรับตัว ความเครียด การรับข่าวสารข้อมูลมากเกินไป และการทำกิจกรรมหลายอย่างในเวลาเดียวกัน

...


เคยบ้างไหม ที่อยู่ๆ ก็เกิดลืมในสิ่งที่ไม่น่าจะลืม ไม่ว่าจะเป็นลืมชื่อเพื่อนบางคนที่ไม่ได้เจอกันนาน ลืมคำง่ายๆ ที่นึกอยากจะพูด แต่ดันคิดไม่ออกว่ามันคือคำว่าอะไร หรือลืมกิจวัตรประจำวันบางอย่างของตัวเอง น่าสงสัยจริงๆ ว่าทำไมอยู่ๆ เราก็ดันขี้ลืมเรื่องง่ายๆ รอบตัวเอาเสียดื้อๆ 

อาการเหล่านี้มีคำตอบ -- ดร.แกรนท์ ชีลด์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ภาควิชาจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยอาร์คันซอ ยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเองว่า ขณะที่เขาในวัย 32 ปีกำลังสอนหนังสือให้นักศึกษาในชั้นเรียน อยู่ๆ ก็คล้ายว่าสมองเขาว่างเปล่า และดันลืมชื่อผู้ช่วยสอนของเขาไปเสียอย่างนั้น นอกจากเสียงหัวเราะของนักศึกษาในวันนั้น เขาได้ศึกษาและอธิบายอาการหลงลืมชั่วขณะแบบนี้ไว้ด้วย

ดร.ชีลด์อธิบายว่าอาการหลงลืมชั่วขณะนั้นอาจเกิดขึ้นชั่วครั้งคราว แต่สำหรับบางคนก็สามารถเกิดขึ้นได้บ่อยๆ โดยปัจจัยหนึ่งที่อาจก่อให้เกิดอาการนี้ก็คือ การถูกแวดล้อมไปด้วยเรื่องที่อาจทำให้เสียพลังงานโดยไม่รู้ตัว เช่น การปรับเปลี่ยนชีวิตประจำวันให้เข้ากับสถานการณ์โรคระบาด บางคนจากที่เคย work from home ก็เริ่มย้ายกลับไปทำงานที่ออฟฟิศ การต้องปรับชีวิตประจำวันท่ามกลางความปกติใหม่หลายต่อหลายครั้งถือเป็นจุดเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ และใช้พลังงานด้านการรับรู้มากกว่าที่เราคิด จนการลืมว่าเมื่อเช้าตัวเองกินอะไรไปอาจเป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกใจเลยด้วยซ้ำ

ผู้เชี่ยวชาญปรียบเทียบว่าสมองของเราก็เหมือนกับคอมพิวเตอร์ที่เปิดแท็บค้างไว้จำนวนมาก ทำให้พลังการประมวลผลของเราช้าลง และหน่วยความจำก็เป็นหนึ่งส่วนที่ได้รับผลกระทบ นอกจากนี้ ความเครียดที่เรื้อรังและสะสมภายใต้สถานการณ์โรคและโลกที่ผ่านมาก็อาจส่งผลเช่นกัน 



โดยการวิจัยที่นำโดยดร.ชีลด์ แสดงให้เห็นว่าคนที่เคยประสบกับความเครียดในช่วงชีวิตที่ผ่านมาอาจมีภาวะผิดปกติของความจำ โดยความเครียดส่งผลลบต่อช่วงสมาธิและการนอนหลับของเรา ซึ่งจะส่งผลต่อความจำด้วย และยิ่งไปกว่านั้น ความเครียดเรื้อรังสามารถทำลายสมองและก่อให้เกิดปัญหาด้านความจำมากยิ่งขึ้น

อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สมองของเรายุ่งเหยิง คือการรับข้อมูลจำนวนมากที่หลั่งไหลเข้ามาหาเราผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ หรือการที่เราให้ความสนใจโทรศัพท์มือถือ การไถหน้าจอตลอดเวลาขณะที่ทำอย่างอื่นไปด้วย ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่ามันเป็นการยากอยู่แล้วที่สมองจะจดจำอะไรได้เมื่อเกิดพฤติกรรมเหล่านี้ และยิ่งเป็นเรื่องยากเข้าไปใหญ่ที่จะจดจำสิ่งต่างๆ ที่อาจอยู่นอกบริบทที่เราสนใจ หรือเมื่อเกิดการเปลี่ยนบริบทอย่างฉับพลัน เช่น เมื่อกลับไปทำงานที่ออฟฟิศ เราอาจจะลืมชื่อเพื่อนร่วมงานบางคนที่เรามักจะเจอเขาผ่านโปรแกรมประชุมออนไลน์ หรือเมื่อมองย้อนไปในช่วงที่เราอยู่บ้านนานๆ เพราะการระบาดของโควิด เราอาจจำรายละเอียดเฉพาะของแต่ละวันไม่ได้ ในเมื่อเราใช้ชีวิตเหมือนเดิมทุกๆ วัน

เป็นที่รู้กันว่าความจำของเราอาจจะถดถอยลงไปตามอายุที่มากขึ้น แต่วิทยาศาสตร์การแพทย์ยังไม่ระบุแน่ชัดว่ามันเริ่มถดถอยเมื่อไหร่กันแน่ เช่นเดียวกับที่สติปัญญาของผู้คนเติบโตในระดับและอัตราที่แตกต่างกัน แต่ผลการศึกษาบางชิ้นแสดงให้เห็นว่ามนุษย์ในวัย 20 ปีจะมีความสามารถในการจำสูงที่สุด และค่อยๆ ลดลงจากจุดนั้น ดังนั้น หากใครที่กังวลเกี่ยวกับความจำของตัวเองในระดับผิดปกติ โดยเฉพาะหากคนรอบข้างสังเกตเห็นการสูญเสียความจำของคุณ คุณอาจต้องสังเกตตัวเองและไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการ

แต่สำหรับการหลงลืมชั่วขณะนั้น แพทย์ผู้เชี่ยวชาญก็ได้แนะนำวิธีสำหรับการเพิ่มความจำเอาไว้ดังนี้

1. อย่าบังคับตัวเองให้คิดออก: การบังคับตัวเองให้พยายามจำได้นั้นเป็นสิ่งที่อาจทำให้เรารู้สึกหงุดหงิด และความหงุดหงิดจะทำให้ส่วนการทำงานด้านอารมณ์ของสมองทำงานมากกว่าส่วนของสมองที่คอยดึงความทรงจำ ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า ให้ปล่อยมันไปก่อนสักพัก หายใจเข้าลึกๆ เพื่อให้สมองสงบแล้วค่อยลองนึกอีกครั้งในภายหลัง

2. หยุดทำงานหลายอย่างพร้อมกัน: การใช้ความจำในขณะที่ทำกิจกรรมหลายอย่างพร้อมกันนั้นเป็นเรื่องยาก ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้วางโทรศัพท์ลงเสีย (ซึ่งจะช่วยลดปริมาณการรับข้อมูลที่มากเกินไปด้วย) และลองทำกิจกรรมทีละอย่าง หรือลองให้ความสนใจกับกิจวัตรหรืองานเล็กๆ น้อยๆ ที่ปกติเรามักจะเปิดโหมดออโต้ไพลอต เช่น การแปรงฟัน การอาบน้ำ เป็นต้น โดยผู้เชี่ยวชาญให้เหตุผลว่าหากเราฝึกที่จะตั้งใจหรือให้ความสนใจกับช่วงเวลาที่ดูไม่สำคัญ เมื่อช่วงเวลายากๆ มาถึง เราก็จะสามารถตั้งใจหรือให้ความสนใจกับมันได้เต็มที่เหมือนกัน

3. ทำให้สมองสงบ: การสร้างความสงบด้วยวิธีต่างๆ จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กลีบสมองส่วนหน้า ซึ่งเกี่ยวข้องกับการดึงข้อมูลหน่วยความจำ ตลอดจนการควบคุมความเครียด วิธีการก็เช่นการทำสมาธิ เล่นโยคะ การออกไปเดินเล่น หรือหายใจลึกๆ ช้าๆ อย่างน้อย 10 นาทีต่อวัน ก็ช่วยได้ หรือคุณอาจจะลองใช้เวลากับคนที่คุณรัก ให้ความใกล้ชิดและช่วงเวลาดีๆ ช่วยลดความเครียด และอีกหนึ่งวิธีสำคัญก็คือการนอนหลับพักผ่อนนั่นเอง

4. ตั้งใจสื่อสาร: การให้ความสนใจกับผู้คนอย่างเต็มที่ในเวลาที่กำลังพูดคุยสื่อสารกัน จะช่วยให้เราจำสิ่งที่ต้องการจะสนทนาได้ดีขึ้น เพราะสมองจะไม่ว่อกแว่กหรือเสียสมาธิเมื่อเราจดจ่อในสิ่งที่ฝ่ายตรงข้ามพูดอย่างตั้งใจ และรอจังหวะที่เหมาะสมเพื่อตอบกลับในสิ่งที่เราอยากบอก การทำเช่นนี้จะยิ่งทำให้เกิดการสื่อสารที่ดีกับคู่สนทนาอีกด้วย


อ้างอิง : The Wall Street Journal, New York Post



Share article
  • Line
  • link

RELATED

+

ฝึกหนูเล่นเกม VR เพื่อศึกษาความจำของมนุษย์

ไทยรัฐออนไลน์ ใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และ นโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)

ยอมรับ
Thailand Web Stat